วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี



ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
ครูศิลป์ชาวอิตาลีที่คนไทยควรรู้จัก

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นามเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรจี (Professor Corrado Ferocil) เป็นชาวนครฟลอเรซ์ ประเทศอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 (และได้รับการกำหนดให้เป็นวัน ศิลป์ พีระศรี) ณ ตำบล San Giovanni บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci มารดาชื่อ นาง Santina Feroci มีอาชีพค้าขาย

เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมเมื่อปี พ.ศ. 2441 ภายหลังจบหลักสูตร 5 ปี เข้าศึกษาในโรงเรียน มัธยมอีก 5 ปี และเนื่องจากชื่นชอบศิลปะมาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเฉพาะผลงานของ ไมเคิล แองเจโล ประติมากรเอกของโลกซึ่งเป็นชาวฟลอเรนซ์เช่นกัน จึงตัดสินใจศึกษา ต่อทางด้านศิลปะใน โรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์



จบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี รับประกาศนียบัตรช่างปั้น ช่างเขียน ต่อมา เข้าสอบคัดเลือกรับ ปริญญาบัตร เป็นศาสตราจารย์ ได้รับเกียรตินิยม อันดับหนึ่งจากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิจารณ์ศิลป์ และปรัชญา โดยเฉพาะมีความสามารถทาง ด้านศิลปะ แขนงประติมากรรม และจิตรกรรม ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 23 ปี

ในสมัยหนึ่ง รัชกาลที่ 6 มีพระประสงค์จะหาช่างปั้นมาช่วยปฎิบัติราชการเพื่อฝึกฝนให้คนไทย สามารถปั้นรูป ได้อย่างแบบตะวันตก และมีความรู้ถึงเทคนิคต่าง ๆ ในงานประติมากรรมด้วย จึงได้ติดต่อกับรัฐบาลอิตาลี ขอคัดเลือกนักประติมากรที่ชื่อเสียง เพื่อเข้ามาปฎิบัติราชการ กับรัฐบาลไทย

ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ได้ทราบข่าวจึงยื่น ความจำนง พร้อมภาพถ่ายผลงานเข้าคัดเลือก เพื่อแข่งขันกับศิลปินอิตาเลียน จำนวน 200 คน และในที่สุดก็ได้รับเลือก รัฐบาลไทยรับ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี เข้าเป็นข้าราชการ ในตำแหน่ง ช่างปั้นกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 เมื่ออายุย่างเข้าวัย 32 ปี โดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 800 บาท ค่าเช่าบ้าน 80 บาท

ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2469 ศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรจี ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ ช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ได้รับเงินเดือนเดือนละ 900 บาท แล้วย้ายมาเป็น ช่างปั้น สังกัดอยู่ในกองประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ

ราวปีพ.ศ. 2477 เนื่องจากทางราชการเห็นความสำคัญของการศึกษาศิลปะตามแนวตะวันตก จึงได้ขอให้ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี เป็นผู้วางหลักสูตรการศึกษาให้มีมาตรฐานเดียวกัน กับโรงเรียนศิลปะในยุโรป ท่านจึงเริ่มวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรม และประติมากรรม ขึ้นในระยะเริ่มแรกชื่อ "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" (ซึ่งต่อมา โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น "โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" ในปี 2480

โดยศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรจี ได้วางหลักสูตรอบรมกว้าง ๆ และทำการสอนให้แก่ผู้ที่สนใจ ในวิชา ประติมากรรมทั้งภาคทฤษฏี และภาคปฎิบัติ โดยผู้ได้รับการอบรมรุ่นแรก ๆ ส่วนมากสำเร็จการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่าง อาทิ สาย ประติมาปกร, สุข อยู่มั่น, ชิ้น ชื่อประสิทธ์, สวัสดิ์ ชื่นมะนา และแช่ม แดงชมพ ผู้ที่มาอบรม ฝึกงานกับศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี (สมัยนั้นเรียกกันว่า "อาจารย์ฝรั่ง") ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะทางราชการมีนโยบายส่งเสริม ช่างปั้น ช่างหล่อ ให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน

ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้มาเป็นผู้ช่วยช่าง และบางคนก็เข้ารับราชการ ช่วยแบ่งเบาภาระงาน และช่วยทำให้กิจการปั้นหล่อของ กรมศิลปากร เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว



และการเริ่มเปิด สอนศิลปะของศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ให้แก่ข้าราชการ และคนไทย ที่รักทางช่างศิลป นี้เอง เป็นผลให้ประเทศไทยมีช่างศิลปที่สามารถทำงานได้ตามความ ต้องการของทางราชการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา
ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 (ในช่วงปี 2485) ประเทศอิตาลี ยอมแพ้แก่ฝ่ายพันธมิตร เป็นผลให้ชาวอิตาเลียนในประเทศไทย ต้องตกเป็นเชลยของเยอรมันกับญี่ปุ่น รัฐบาลไทยจึงขอ ควบคุม ตัวศาสตราจารย์ คอร์ราโด ไว้เอง จากนั้นหลวงวิจิตรวาทการ ได้ดำเนินการขอโอน สัญชาติจากอิตาเลียน มาเป็นสัญชาติไทย และเปลี่ยนชื่อให้เป็น "นายศิลป์ พีระศรี" เพื่อคุ้มครองไว้ไม่ให้ต้องถูกเกณฑ์ ไปเป็นเชลยศึกให้สร้าง ทางรถไฟสายมรณะและสะพานข้าม แม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี

ผลงานออกแบบ และประติมากรรมของท่านมีจำนวนมากมาย เช่น





- อนุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร. 1 ขนาด 3 เท่าของพระองค์ ที่เชิงสะพานพุทธฯ
- อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

- อนุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี

- อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่

- อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี

- พระพุทธรูปพระประธานในพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

- ประติมากรรมที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย และอนุเสาวรีย์อื่น ๆ เป็นต้น

และงานชิ้นสุดท้ายซึ่งยังไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน คือ งานปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จเพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช


และงานทางด้านวิชาารชิ้นสุดท้ายคือ การวินิจฉัยจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรี



ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อปี พ.ศ. 2505 รวมสิริอายุได้ 70 ปี

แม้ว่าท่านจะจากไปนานแล้วก็ตาม แต่ผลงานและคำสอน ของท่านยังคง อยู่ในความทรงจำ ของชาวศิลปากร ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งวางรากฐานมหาวิทยาลัยมาแต่แรกเริ่ม บรรดาลูกศิษย์ ทั้งรุ่นแรก ๆ และรุ่นหลังต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า


"อาจารย์ฝรั่ง" ผู้นี้ นอกจากเป็น อาจารย์ผู้ตั้งใจ และมุ่งมั่นในการประสิทธิ์ประสาทความรู้ทางด้านศิลปให้กับศิษย์ ทุกคนอย่างไม่มีปิดบัง หรือหวงวิชาใด ๆ แล้ว ยังเป็น "ครู" ผู้อุทิศกายใจ ดูแล เอาใจใส่ เพื่อชี้แนะ ทั้งวิถีการดำรงชีวิต และแนวทางศิลป์ที่ถูก ที่ควรให้กับศิษย์ทุกคนอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี จึงนับเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทย ที่ได้สร้างคุณูปการ ในทางศิลปะ จนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง และคนไทยรุ่นหลังควรได้รู้จัก

มีคำบอกเล่าเกี่ยวกับแนวคิด การทำงาน และความทุ่มเทชีวิตต่อศิลปะ และราชการไทยของ อาจารย์ศิลป์ โดยลูกศิษย์หลายต่อหลายคน ไว้ในหนังสือ "อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์"

ไว้อย่างน่าสนใจ อาทิเช่น คำบองเล่าของ เขียน ยิ้มศิริ ศิษย์รุ่นแรกของศาสตราจารย์ศิลป์

"...อาจารย์ศิลป์ เป็นคนตรงต่อเวลามาก และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ต่อราชการไทยจริง ๆ แม้ถึงเวลารับประทานอาหารกลางวันท่านก็ไม่ออกไปข้างนอก ท่านเอาอาหารมาจากบ้าน รับประทานเสร็จ พักผ่อนเพียง 15 นาที แล้วก็ทำงานต่อไป ไม่มีหยุดพักดื่มน้ำชา อย่างชาวยุโรปทั่วไป ดื่มแต่น้ำเปล่าเมื่อเวลากระหายเท่านั้น อุปนิสัยเช่นนี้ ส่อให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้มีความตั้งใจจริงต่อการทำงาน และมีความสำนึกในความรับผิดชอบอย่างสูง...”

"...เมืองไทยก่อนตกอยู่ในเงื้อมมือของภัยสงคราม ได้มีการจัดงานฉลอง รัฐธรรมนูญกันเป็นประจำ ศาสตราจารย์ศิลป์ได้แนะนำให้รัฐบาลจัดงานประกวดภาพเขียน ภาพปั้น ส่งเสริมหลักหกประการ และความสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญแห่งชาติไทย นับว่าท่านมิได้ ทำงานเฉพาะที่ได้รับมองหมายเท่านั้น แต่ยังได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ และความคิดที่จะส่งเสริม ให้เกิดการตื่นตัวในการศึกษา และนิยมงานศิลปในหมู่ศิลปิน และประชาชนทั่วไป อาจกล่าวได้ว่า ความคิดของท่านเป็นทางหนึ่งของการเผยแพร่งานศิลป สมัยปัจจุบันของศิลปินไทย ซึ่งทำให้เกิด มีงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเป็นประจำอยู่ทุกวันนี้...”

"...การปฏิบัติหน้าที่ราชการในแก่รัฐบาลไทยนั้น ศาสตราจารย์ศิลป์มิได้มุ่งหน้า แต่จะนำเอาหลักการ และความชำนิชำนาญในแบบอย่างของศิลปตะวันตกมาอบรมสั่งสอน และส่งเสริมให้เกิดความนิยมในหมู่คนไทยเท่านั้น แต่ท่านได้ศึกษาศิลปของไทยด้วย สิ่งที่ท่านได้ค้นพบจากการค้นคว้าของท่าน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ วิวัฒนาการของงานศิลปชนเผ่าไทย ในยุคต่าง ๆ หรือเกี่ยวกับคุณค่า และลักษณะศิลป ในรูปแบบต่าง ๆ ของไทยก็ตาม ท่านได้พยายามที่จะถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น และสนับสนุนให้คนไทยสนใจศึกษา และเห็นคุณค่าศิลปประจำชาติ พยายามรักษษไว้มิให้ สูญสลายไป

ท่านได้เขียนบทความเกี่ยวกับศิลป ของไทยไว้เหลายเรื่อง รวมทั้งบทความ ที่จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงคุณค่าต่อจิตใจ และประโยชน์ของศิลปที่มีแก่สังคม อีกมาก อาจกล่าวได้โดยมิผิดพลาดว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ทุ่มเททั้งกาย และวิญญาณเพื่อ เสริมสร้าง ฟื้นฟูความนิยมในศิลปให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวไทย อย่างยากที่จะหาใครเปรียบได้ ท่านเกิดมาเพื่อเมืองไทยโดยแท้ แม้มิได้มีสายเลือดเป็นคนไทย...”

หรือจากคำบอกเล่าของศิษย์รุ่นหลัง ๆ ที่ว่า

"....ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านให้การอบรมแก่ศิษย์ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติโดยมิได้ เหน็ดเหนื่อย เป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง ท่านมาทำงานแต่เช้าก่อนเวลา 8.00 น. และกลับบ้าน หลังเวลา 18.00 น. ทุกวัน ตั้งใจถ่ายทอดวิชาอย่างจริงจัง ทำให้ศิษย์ทุกคนมีความขยัน หมั่นเพียร ใครเกียจคร้านท่านจะไม่พูดด้วย ท่านชอบที่อยู่ใกล้ศิษย์เสมอ ปกตินอกจากท่าน จะมิเคยลาป่วย หรือลาหยุดแล้ว ในทางตรงกันข้ามยังมาทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ

ท่านทำงานไม่หยุด ทั้งงานประติมากรรม อนุสาวรีย์ของส่วนราชการ และงานสอนที่ท่านทุ่มเท ท่านเคารพต่อราชการ ไม่เคยใช้เวลาราชการและไม่เคยทำงานพิเศษเป็นส่วนตัวแสวงหา รายได้เพื่อเลี้ยงชีพเพิ่มพูนรายได้นอกจากเงินเดือนราชการ ความขยันหมั่นเพียร ของท่าน ควรค่าแก่การเคารพ ในเกียรติยศ ของท่าน...”


และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็น "บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย" พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ จึงถูกจัดตั้งขึ้น โดยตัวตึกตั้งอยู่ด้านซ้ายของอาคาร ที่ทำการกรมศิลปากร ซึ่งในอดีตเป็นสถานที่สำหรับ ใช้ทำงานศิลปะ และสอนนักศึกษา



ปกติแล้ว วันที่ 15 กันยายน ในสมัยที่ศาสตราจารย์ศิลป์ ยังมีชีวิตอยู่ จะถือเป็นวันที่ศิษย์โรงเรียน ศิลปศึกษาทุกคนต่างรอคอย เพราะคือโอกาส การได้ร่วมงานวันเกิด ของผู้เป็นครูศิลป์ ที่บ้านพัก ของท่าน ซอยสายลม ถนนพหลโยธิน ศาสตราจารย์ศิลป์ จะอยู่ร่วมงาน เล่านิทาน ร้องเพลง และหยอกล้อกับศิษย์ดังปฏิบัติต่อลูกหลาน

จวบจนปัจจุบัน วิทยาลัยช่างศิลป สำนึกในบุญคุณของท่านผู้ริเริ่มวางรากฐาน และก่อตั้งวิทยาลัย ช่างศิลป จึงได้จัดกิจกรรมรำลึกศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในวันเกิดของท่านคือ วันที่ 15 กันยายน มาตลอดทุกปี และตั้งเป็นวัน "ศิลป์ พีระศรี" เพียงแต่วันนี้ไร้ ร่างเจ้าของวันเกิด เหลือไว้ก็แต่คำสอน และสถานศึกษาศิลปะ ตลอดจนคุณความดีที่ไม่มีใครลืม “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

อ่านหนังสือ บทความต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี มาตั้งแต่เป็นเด็กเล็กจนปัจจุบันด้วยความใฝ่ฝันอยากเรียนด้านศิลปะ แต่ทางครอบครัวไม่สนับสนุน ความชื่นชอบยังคงมีอยู่ในหัวใจ เมื่อได้เป็นครูก็ขอสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ทำงานโดยยึดอาจารย์ศิลป์เป็นแบบอย่างของ"ข้าราชการที่ดี" ตรงต่อเวลา ทุ่มเท แสวงหาความรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ที่สุดของชีวิตข้าราชการครูคือได้มีวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษสาขาทัศนศิลป์ ถ้ามีคุณงามความดีใด ๆ บังเกิดขึ้นขออุทิศแด่ท่านอาจารย์ศิลป์ผู้เป็นต้นแบบของครูศิลปะ และ "ข้าราชการตัวอย่าง"

Unknown กล่าวว่า...

ผมรักและเคารพในตัวอาจารย์ครับ